น้ำมันพืชใช้แล้ว นับเป็นแหล่งพลังงานที่น่าสนใจอีกแหล่งหนึ่ง เนื่องจากเป็นของเหลือใช้ในครัวเรือนหรือร้านค้าที่ประกอบอาหารประเภทที่ใช้น้ำมันจำนวนมากรวมไปถึงอุตสาหกรรมบางประเภท โดยข้อมูลจากมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมระบุว่าประเทศไทยมีน้ำมันพืชเหลือใช้ทั้งหมดปีละประมาณ 74.5 ล้านลิตร และกว่า 60 % มาจากภาคครัวเรือน ซึ่งน้ำมันพืชเหลือใช้จำนวนมากเหล่านี้ หากครัวเรือนสามารถนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงจะช่วยลดการใช้ซ้ำสำหรับการประกอบอาหารอันจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น เกิดการก่อตัวของสารก่อมะเร็ง เป็นต้น
|
|
รศ.ดร.จารุวัตร เจริญสุข สาขาวิศกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) และคณะผู้วิจัย | |
 | ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.จารุวัตร เจริญสุข สาขาวิศกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) และคณะผู้วิจัย ประกอบด้วย นายเกษมศิลป์ อ่อนทอง และนายอาวุธ ลภิรัตนากูล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. จึงได้พัฒนาหัวเผาน้ำมันพืชใช้แล้ว สำหรับการใช้กับเตาหุงต้มในครัวเรือนและอุตสาหกรรม โดยมีแนวคิดในการช่วยลดต้นทุนการใช้ทรัพยากรและประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนรวมทั้งเป็นการช่วยประหยัดพลังงานได้อีกทางหนึ่ง โดยในการคิดค้นหัวเผาดังกล่าวได้นำเทคโนโลยีการเผาไหม้โดยใช้วัสดุพรุนมาปรับใช้เพื่อให้เปลวไฟมีเสถียรภาพสูงสามารถกักเก็บอุณหภูมิได้ดี รวมทั้งนำน้ำมันปาล์มใช้แล้วมาเป็นเชื้อเพลิงในการทดสอบหัวเผาที่คิดค้นขึ้น โดยเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับหัวเผาที่ใช้ก๊าซหุงต้ม
|
รศ.ดร.จารุวัตร กล่าวว่า จากการศึกษาโดยการเปรียบเทียบประสิทธิภาพเชิงความร้อนที่ได้จากหัวเตาเผาน้ำมันปาล์มใช้แล้วกับหัวเผาก๊าซหุงต้มพบว่า ประสิทธิภาพเชิงความร้อนของหัวเผาน้ำมันปาล์มใช้แล้วมีค่าต่ำกว่าเล็กน้อย เนื่องจากความร้อนจากหัวเผาน้ำมันปาล์มส่วนหนึ่งจะต้องเสียให้กับขดท่อไอน้ำมัน ประกอบกับค่าความร้อนของเชื้อเพลิงของน้ำมันปาล์มต่ำกว่า LPG และคุณสมบัติของน้ำมันปาล์มที่มีการผสมกับอากาศและการเผาไหม้ที่ยากกว่าก๊าซ LPG อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายจากการใช้งานของหัวเผาน้ำมันปาล์มกับหัวเตาเผา LPG ที่ใช้หุงต้มในครัวเรือนทั่วไป โดยนำมาทำการต้มน้ำให้เดือดที่ระดับพลังงานเดียวกันเป็นเวลา 30 วัน ๆ ละ 2 ครั้ง นำระยะเวลาในการต้มแต่ละครั้งมาคำนวณหาค่าการใช้เชื้อเพลิงจากการต้มน้ำของหัวเตาเผาทั้งสองชนิด
|
ปรากฏว่าหัวเผาน้ำมันปาล์มใช้เวลาในการต้มนานกว่าหัวเผา LPG ประมาณ 1-3 นาที แต่เมื่อนำมาคำนวณค่าใช้จ่ายพบว่า หัวเตาเผาน้ำมันปาล์มใช้แล้วจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงมาได้ประมาณ 36.5% ต่อหน่วยพลังงานความร้อนที่ใช้ไป รศ.ดร.จารุวัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการพัฒนาหัวเผาน้ำมันพืชใช้แล้วในครั้งนี้ เนื่องจากต้องการให้ในท้องตลาดหรือครัวเรือนทั่วไป มีเตาให้ความร้อนที่สามารถใช้เชื้อเพลิงได้หลายชนิดโดยปรับให้เหมาะสมกับเชื้อเพลิงที่หาได้ในขณะนั้น และมีขั้นตอนในการจุดและดับไฟที่ไม่ซับซ้อน ราคาไม่แพง เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือประชาชนทั่วไปหันมาใช้เตาหุงต้มชนิดนี้มากขึ้น
|
"สำหรับต้นทุนของเตาหุงต้มที่คิดค้นขึ้นนี้มีต้นทุนเตาละประมาณ 3,000 บาท ดังนั้น หากสถานประกอบการที่มีการใช้ก๊าซหุงต้มในปริมาณมากและหัวเตาเผาน้ำมันพืชใช้แล้วที่ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับแก๊สหุงต้มที่ใช้อยู่เดิม จะสามารถคำนวณระยะเวลาคืนทุนได้ในระยะเวลาสั้น เช่น ครัวเรือนขนาดกลาง-ใหญ่ และผู้ประกอบการที่มีอัตราการใช้ก๊าซหุงต้ม 1 ถังต่อสัปดาห์ มีค่าใช้จ่าย 315 บาท/สัปดาห์ และเมื่อใช้น้ำมันพืชเก่าเป็นเชื้อเพลิง ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 36.5% ต่อปริมาณพลังงานที่ใช้เท่ากัน คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 115 บาท/สัปดาห์ ขณะที่เงินลงทุนสำหรับเตาหุงต้มชนิดนี้ประมาณ 3000 บาท ทำให้มีระยะคืนทุน 26 สัปดาห์ หรือ ประมาณ 6.5 เดือน ในกรณีที่ผู้ประกอบการหรือโรงงานอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้ก๊าซหุงต้มมากกว่านี้ ระยะเวลาในการคืนทุนก็จะสั้นลงอีกเป็นลักษณะผกผันกัน
|